วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

White Ocean Strategy น่านน้ำสีขาว

     ธุรกิจกลุ่มนี้ ไม่ได้มองว่า ผลกำไรคือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มองถึงการเผื่อแผ่ สู่เพื่อนมนุษย์ มากกว่าเรื่องอื่นๆ ตกผลึกเป็นความคิด และทิศทางที่ชัดเจน  



     กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว คือ การกำหนดพื้นฐานการบริหารองค์กร แบบองค์รวม ครอบคลุมตั้งแต่วิสัยทัศน์ นโยบาย พันธกิจ กลยุทธ์การดำเนินงาน ไปจนถึงแนวทางในการปฏิบัติทุกภาคส่วนขององค์กร ตั้งแต่การบริหารงานบุคคล การตลาดและการขาย การปฏิบัติการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์
     ธุรกิจสีขาวไม่ได้มองว่า "ตัวเอง" เป็นศูนย์กลาง ผลกำไรที่ผู้ถือหุ้นได้รับไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด แต่จะให้ความสำคัญกับสังคมในทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราไปพร้อมๆ กัน เราสามารถนำ ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ ไปใช้ในการบริหารในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับบริหาร ระดับปฏิบัติ กระทั่งการเจรจาการค้าต่างๆ 
     หากมุ่งหวังแต่ผลกำไรมากเกินไป จนลืมมองไปถึงความเสี่ยงที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว จนลืมมองไปว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น ต้องยึดมั่นในแนวทางของ ‘บรรษัทภิบาล’ เช่นเดียวกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากการเสพติดอำนาจมากเกินไป ใช้อำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้อง
เมื่อสูญเสียอำนาจก็พยายามช่วงชิงอำนาจคืน กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้ง ผู้คนแบ่งฝักฝ่าย คนละพวกคนละสี
‘ความไม่พอดี’ ดังกล่าวยังเป็นที่มาของปมปัญหาต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ยกตัวอย่างกรณีของ ‘เอนรอน’ ที่ตกแต่งตัวเลขทางบัญชี ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดกับบรรดานักลงทุนทั้งหลาย กลายเป็นรอยด่าง ให้กับมาตรการกำกับดูแล ของแวดวงตลาดทุนทั่วโลก เช่นเดียวกับที่สะท้อนให้เห็นว่า เพราะความโลภของคนบางกลุ่ม ได้ทำลายเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ถัดจาก ‘เอนรอน’ ยังมียักษ์ใหญ่รายอื่นๆ อาทิ เวิลด์คอม ฯลฯ ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดทุน ละเมิดต่อบรรษัทภิบาลไม่หยุดหย่อน
     น่านน้ำสีขาวต่างจาก CSR ตรงที่น่านน้ำสีขาวเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทาง การดำเนินการทุกอย่าง ตั้งแต่นโยบาย วิสัยทัศน์ กระบวนการทำงาน ต้องตั้งอยู่บนหลักคุณธรรม ความดีทั้งหมด เพื่อเติมเต็มสิ่งที่สังคมยังขาดอยู่ โดยใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ อุดมการณ์ของ ผู้ก่อตั้งมาตอบโจทย์ของสังคม ในขณะที่ CSR เป็นเรื่องของเทคนิคอล เป็นเรื่องของกิจกรรมพิเศษที่องค์กรต่างๆ คิดขึ้น เมื่อองค์กรประสบความสำเร็จแล้ว ก็ลุกขึ้นมาทำประโยชน์ให้กับสังคม ดังจะเห็นได้จากหลายบริษัท เมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ก็มีมาตรการตัดลดงบประมาณ CSR
     นั่นหมายความว่าองค์กรเหล่านั้นมองเรื่อง CSR ว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเท่านั้น แต่ไม่ใช่เนื้อเดียวกับองค์กร ซึ่งต่างจาก White Ocean Strategy ที่หลอมรวมอยู่ในการบริหารงานทุกสิ่ง ทุกอย่างขององค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น